6 เคล็ดลับ ไม่ต้องไปอมพระวัดไหน เล่าอะไร ใครก็เชื่อ
ในการเล่าเรื่อง หรือการนำเสนอ แน่นอนว่าหากพูดไปแล้วคนดูคนฟังไม่เชื่อ หรือข้อมูลที่เตรียมมาไม่น่าเชื่อถือ มันก็คือจบกันครับ แต่....บางครั้ง ถึงแม้ว่าข้อมูลจะจริงมากๆ มีหลักฐานยืนยัน Support ต่างๆ มาเต็ม ความเป็นวิชาการเกินร้อย คนดูคนฟังก็อาจจะยังไม่เชื่อถืออยูดี ในขณะเดียวกัน บางครั้งข้อมูลกลางๆ เล่ากันง่ายๆ คนดูก็เชื่อได้เป็นวรรคเป็นเวร มันเกิดจากอะไรกันนะ
ในการนำเสนอ ไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือครับ เพราะมันไม่ได้ขึ้นกับ "ข้อมูล" อย่างเดียว แต่มันขึ้นกับ "ตัวคนนำเสนอ" ด้วยเช่นกัน รวมไปถึง "ความสัมพันธ์ระหว่างคนพูดและคนฟัง" ก็เป็นปัจจัยเสริมแรงให้การนำเสนอต่างๆนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยได้แค่ไหน
หนังสือ How to Win Friends and Influence People ได้พูดไว้ถึง 6 วิธี ที่จะทำให้คน "เชื่อถือ" เราได้มากขึ้นด้วยครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ย้ำอีกทีว่าไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลยนะครับ เกี่ยวกับตัวคนเล่าคนพูด และความสัมพันธ์ระหว่างคนพูดกับคนฟังล้วนๆ มีอะไรบ้าง ลองดูกันครับ
1. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารู้สึกว่าเค้าสำคัญ
เพราะศูนย์กลางของการนำเสนอ หรือการเล่าเรื่อง ไม่ใช่คนพูดครับ หากแต่เป็นคนฟัง ดังนั้น ผู้พูดเองควรต้องเอาใจใส่ผู้ฟัง และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเค้าเป็นคนสำคัญ เช่น การทักทายผู้ฟังในรายละเอียดที่แสดงถึงความใส่ใจ (เสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับ) การไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ (รถติดมั้ย ฝนตกมั้ย) ก็จะทำให้คนฟังรู้สึกได้ว่า คนพูดนั้น "ใส่ใจ" ครับ
2. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารู้ว่าฟังแล้วจะได้อะไร
สุดท้ายแล้ว คนที่มาฟังเรา ก็ไม่ได้มานั่งฟังเฉยๆครับ (แม้บางคนจะโดนบังคับมาก็ตาม) การฉายภาพให้เห็นก่อนว่า หลังจากที่ฟังจบแล้ว หรือเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนไป กับคนฟังคืออะไรบ้าง จะได้ความรู้อะไรบ้าง เอาไปทำอะไรได้บ้าง ก็จะทำให้คนฟังอยากจะฟัง และตั้งใจฟังได้มากขึ้นครับ
3. คนฟังจะเชื่อ ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นจริงๆ
ในสมัยกรีก การศึกษาเรื่องวาทวิทยาได้ระบุไว้ถึง 3 ปัจจัยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของเรื่องราว หรือเนื้อหาต่างๆ 1 ในนั้นคือ "คนพูดเป็นใคร" (Ethos) ครับ ดังนั้นสำคัญมากก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้น การแนะนำตัวของผู้พูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความ "มั่นใจ" กับผู้ฟังได้ว่า วันนี้ ผู้ฟังได้มาฟังกับตัวจริง จริงๆ ครับ แต่....ดาบสองคมของการแนะนำตัวก็คือ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลงานทั้งหมดที่มีนะครับ มันจะเป็นการ "ยกตนข่มท่าน" เปล่าๆ เอาเป็นว่า พูดคร่าวๆก็พอ เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในวันนี้ที่ผู้พูดรับผิดชอบอยู่ครับ
4. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้าไม่ถูกบังคับ
การกำหนดให้มีกิจกรรมใดๆ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ฟังอยากจะมีส่วนร่วม ไม่ควรเป็นการบังคับครับ ควรมีส่วนให้ผู้ฟังได้มีอิสระในการเลือกด้วย เช่น การมี Option ของโจทย์ หรือการร่วม Vote กิจกรรมที่คนฟังสนใจครับ ก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆนั้นดูไม่เป็นการบังคับจนเกินไป
5. คนฟังจะเชื่อ ถ้าคุณมีลักษณะเหมือนเค้า
ข้อนี้สำคัญมากๆๆๆๆครับ จำได้ว่าเคยเขียนไว้ทีนึง เรื่องของการ "ตกหลุมรัก ในการนำเสนอ" เพราะมนุษย์มักจะชอบคนที่มีลักษณะคล้ายเราครับ ดังนั้น Trick ตรงนี้คือ ทำยังไงก็ได้ ให้คนฟังรู้สึกว่าคุณคือพวกเดียวกันกับเค้าครับ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกอย่างนะครับ แต่ขอให้มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน ก็ใช้ได้แล้วครับ เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ "ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้" แล้วล่ะครับ
6. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารักคุณ
ข้อนี้ เป็นผลพวกสุดท้ายมาจากทั้ง 5 ข้อข้างบนครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณ "สร้างหลุมรัก" ให้คนฟังตกลงมาได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเล่าอะไรต่อไป ก็ได้ทั้งหมดแล้วล่ะครับ
เพราะการนำเสนอ ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหาเพียงอย่างเดียวครับ คนฟังคือศูนย์กลางของจักรวาลนี้ ดังนั้น คนพูด หรือคนนำเสนอเอง ควรจะต้องทำยังไงก็ได้ ให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำทั้ง 6 ข้อนี้ได้ก่อนการนำเสนอ หรือการเล่าเรื่องจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อนั้น คุณก็คุมจักรวาลการนำเสนอนี้ได้แล้วล่ะครับ
----------------------------------------------------
อ.ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์
www.presentation-academy-thailand.com
www.facebook.com/powerpoint100lemgwean
presentationacademythailand@gmail.com
No comments:
Post a Comment