Thursday, October 8, 2020


 พรีเซนท์แทบตาย สุดท้ายเค้าไม่จำ ต้องทำยังไง??

เมื่อเราทำพรีเซนท์ไว้ดีมากๆ เรียงร้อยข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่พอเอาไปนำเสนออีกที คนดูกลับจดจำอะไรไม่ได้เลย เป็นเพราะอะไรกัน??

บางทีมันก็ดูเหมือนจะเสียแรงเปล่าครับ ที่เราอุตส่าห์นั่งทำข้อมูลมาเป็นอย่างดี คิดว่ามันต้องว้าวแน่ๆ ดึงดูดความสนใจแน่ๆ สไลด์มาอย่างคิดแล้วคิดอีก แต่...หนึ่งตัวชี้วัดที่ดูจะมีประโยชน์มากที่สุดตัวนึงก็คือ "แล้วหลังจากเราพรีเซนท์จบแล้ว คนฟังจำสิ่งที่เรานำเสนอไปได้มั้ย" หรือ "เค้าจำได้นานแค่ไหน" อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า การนำเสนอนั้นๆมีความ Effective รึเปล่าวด้วยนะครับ 

สมองคนเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง

ใช่ครับ..... หากว่าคุณเป็นคนนึงที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ อ่านหนังสือแล้วง่วง อยากจะหาทางลัด ทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ ฯลฯ นั่นก็คือ คุณมาถูกทางแล้วครับ สมองคนเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง ดังนั้น มันจะส่งผลต่อการ "รับฟัง" การนำเสนอ หรือการพูดด้วยเช่นกัน รวมถึงสมองคนเราก็มีขีดจำกัดอยู่ด้วยในเรื่องของความจำครับ อย่างที่ประโยคในหนัง (เคย) ดัง ประโยคนึงพูดไว้ว่า "....ไม่ลืมไม่มีหรอก มีแต่ลืมช้าหรือลืมเร็ว แค่นั้น.." 

ในเรื่องความจำ นักจิตวิทยาก็เลยมีการนำเสนอทฤษฎี Cognitive Load Theory (CLT) เพื่อมาทำการอธิบายว่า อะไรกันที่จะทำให้สมองจดจำได้นานขึ้นครับ ซึ่งทฤษฎีนี้ระบุไว้ถึงความสามารถของสมองในสามทิศทาง คือ Intrinsic Load, Extraneous Load, และ Germane Load ครับ (อย่าเพิ่งตกใจ เดี๋ยวอธิบายให้ฟัง) 

Intrinsic Load - อะไรยากไป ไม่จำ 

ก็อย่างที่บอกไว้ครับ ว่าสมองเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง ดังนั้นอะไรก็ตามที่ "ง่ายกว่า" จะเป็นที่จดจำได้ "มากกว่า" ดังนั้น ในงานนำเสนอ ผู้นำเสนอควรทำการ "ย่อย" ข้อมูลที่มีความซับซ้อนให้ง่ายลง ทำให้เป็นขนาด Bite Size ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำที่มากขึ้นครับ ในส่วนนี้ ถ้าเป็นสไลด์ ในหนึ่งหน้าก็ควรจะมีแค่เนื้อหาหลักเรื่องเดียว ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นพรืด ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำได้มากขึ้นครับ 

Extraneous Load - นำเสนอไม่ดี ไม่จำ 

นอกจากการย่อยข้อมูลแล้ว การนำเสนอที่เหมาะสมและควรค่าแก่การจดจำ ก็ต้องเกิดจากการ "ร้อยเรียง" อย่างเป็นลำดับและติดตามได้ด้วยครับ ด้วยเหตุนี้ การใช้ "เรื่องเล่า" หรือว่า Storytelling เข้ามาช่วยในการนำเสนอ จึงเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจดจำครับ มีงานวิจัยพบว่า การนำเสนอโดยเรื่องเล่า จะทำให้คนจำได้มากกว่าการนำเสนอข้อมูลเพียวๆ ถึง 65% ด้วยกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรนำคือ ย่อยข้อมูลแล้ว ก็ต้องร้อยเรียงให้รู้เรื่องด้วยครับ 

Germane Load - เชื่อมโยงไม่ได้ ไม่จำ 

อีกอันนึงคือ การ Connect the Dots ของผู้ฟังครับ หากข้อมูล เนื้อหาหรือการเล่าเรื่องราวต่างๆในงานนำเสนอนั้น ไม่สามารถถูกเชื่อมโยง เข้ากับประสบการณ์ของผู้ฟังได้ สมองก็จะไม่จำเท่าไหร่ครับ อันนี้เป็นอีกความลับนึงในการนำเสนอครับ หมายความว่า การนำเสนอให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้นำเสนอก็ต้องรู้จักผู้ฟังดีประมาณนึง ที่จะสามารถร้อยเนื้อหานี้ให้เกิดการเชื่อมโยงเข้ากับผู้ฟังได้ด้วยครับผม 

สามส่วนนี้ เป็นความลับของสมองมนุษย์ที่จะทำให้การนำเสนอครั้งต่อไปของทุกคนนั้น สามารถประทับรอยไว้ในสมองของผู้ฟังได้ครับ เมื่อการนำเสนอจบลงไปแล้ว เนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆที่เราพยายามทำมาข้ามวีค ข้ามเดือน ก็จะเข้าไปอยู่ในความจำของผู้ฟังได้ครับ อย่างน้อย เค้าก็ได้อะไรกลับบ้านไป หลังจากที่การนำเสนอจบลง ลองเอาไปใช้ดูนะครับ 

--------------------------------------------------------
อ.ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์ 
www.presentation-academy-thailand.com
www.facebook.com/powerpoint100lemgwean
presentationacademythailand@gmail.com 

No comments:

Post a Comment