Saturday, October 31, 2020

 


Marketing เครื่องรางของขลัง พลังแห่ง "การเล่าเรื่อง" 

เชื่อว่า ....ใครหลายๆคนที่ทำธุรกิจอยู่ ก็คงอยากให้ขายดีแบบเทน้ำเทท่าเป็นธรรมดาครับ พอมาดูสินค้าต่างๆที่มีอยู่ในบ้านเรา ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ใครที่มาจับธุรกิจเครื่องรางของขลัง ก็มีโอกาสปังไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งหลายๆคนก็มองว่า "ของมันขายได้อยู่แล้ว" หรือ "มันถูกจริตคนไทย" ฯลฯ แต่....เชื่อมั้ยครับว่า ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตาม ก็ปังไม่แพ้กับเครื่องรางได้เช่นกัน แค่รู้ความลับของ "การเล่าเรื่อง" ที่วันนี้จะเอามาเล่าให้ฟังครับ 

ก่อนอื่น เรามาฟังกันก่อน ว่าทำไมต้อง "การเล่าเรื่อง" 

เรื่องเล่าเป็นส่วนนึงของชีวิตมนุษย์มานานแล้วครับ จนกระทั่งมันแทรกซึมมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรามักจะจำได้ดีกว่า อินกว่า เข้าใจกว่า ถ้าเราถ่ายทอดอย่างมีศิลปะ และเรื่องเล่าก็มักจะถูกหยิบขึ้นมาเพื่อทำให้คนอยากรู้ต่อ อยากเข้าใจต่อครับ แต่ว่า....วันนี้ ไม่ได้ให้ไปแต่งเรื่องนะครับ วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า ถ้ามองจากมุม"การเล่าเรื่อง" ทำไมเครื่องรางของขลังถึงขายดี 

ในทุกเรื่องเล่า มักจะมี Conflict หรือว่า "ความขัดแย้ง" อยู่ด้วยเสมอครับ ถ้าไม่มี มันจะไม่มีเรื่องเล่าครับ ซึ่งลักษณะของ Conflict นั้น ก็สามารถแยกย่อยออกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้ครับผม 

1. แบบ Man Against Man 

ตัวเรา ขัดแย้งกับ คนอื่นๆ ในที่นี้ความขัดแย้งไม่ได้หมายความว่าให้มีเรื่องกันนะครับ มันอาจจะหมายถึง การแข่งขัน ทำให้เราดีกว่า เก่งกว่า ทำได้ถูกต้องกว่า เรียกว่า "ชนะ" คนอื่นในทางใดทางหนึ่งครับ ซึ่งความขัดแย้งแนวๆนี้ ก็นำไปสู่เรื่องของ การฝึกฝน หรือการพยายามอะไรบางอย่าง ที่จะทำให้คนคนนึง ชนะคู่แข่งได้ในที่สุดครับ 

2. แบบ Man Against Himself 

ความขัดแย้งแบบนี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างตัวคนคนนึง กับตัวเค้าเองครับ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจุบัน หรืออดีตก็ได้ครับ เช่นสมมติว่า ตำรวจต้องจับลูกตัวเอง ก็มีความขัดแย้งภายในตัวเองระหว่างภาระหน้าที่ และความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือแม้กระทั่ง คนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษอยากจะได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ ก็ต้องมีความขัดแย้งระหว่างคนคนนั้นกับตัวเอง เกิดขึ้นครับ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่เรื่องของการพยายาม การเลือก การตัดใจ แม้กระทั่งความเสียใจในการต้องเลือกทางนึง ทิ้งทางนึงครับ 

3. แบบ Man Against Society 

ความขัดแย้งแบบคนเดียวกับคนหมู่มาก หรือคนกับสังคมครับ ความขัดแย้งแบบนี้พบบ่อยมาก เวลาคนคนนึงพยายามจะทำอะไรที่ไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ทำอะไรใหม่ๆ ก็ย่อมไมไ่ด้รับการยอมรับในเบื้องต้นเป็นธรรมดาครับ สิ่งนี้ก็ต้องนำไปสู่การพิสูจน์ตัวตน ความพยายาม (อีกแล้ว) จนกระทั่งสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับครับ  หรือ ถ้ามองคร่าวๆก็เกิดขึ้นได้ในหนังประเภทวิ่งหนี่ซอมบี้ ก็ได้ครับ มนุษย์ผู้ทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ก็ใช่ความขัดแย้งประเภทนี้ครับ 

4. แบบ Man Against Nature 

ความขัดแย้งที่ดูยิ่งใหญ่ระหว่าง มนูษย์กับธรรมชาติ ส่วนมากพบตามภาพยนตร์ที่เป็นภัยพิบัติต่างๆครับ ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องพยายามเอาชีวิตรอดให้ได้ ส่วนมากแล้วมักจะนำไปสู่ ปฏิภาณ ไหวพริบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีครับ ในเชิงการคลาดแล้ว เรามักจะพบกับธุรกิจ "เครื่องสำอาง" ครับ ที่สามารถต่อสู้ "ริ้วรอยแห่งวัย" ได้ครับ (เพราะมันคือร่องรอยแห่งธรรมชาติเหมือนกัน)

5. แบบ Man Against Fate 

อันนี้แหละ เป็นอันสุดท้ายที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยไม่ว่าด้วยอะไรก็ตาม ความพยายามก็ไม่ช่วย เพราะมันเป็นความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์ และโชคชะตา ครับ เพราะเราไม่สามารถมองเห็นโชคชะตาใดๆได้ครับ แต่เรามักจะพบกว่า สิ่งที่เราอยากได้จะไม่ได้ หรือสิ่งที่เราไม่อยากได้มักจะมาหาเรา สิ่งเหล่านี้คือโชคชะตาครับ ความพยายามก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในส่วนนี้ ดังภาษิตที่ว่า "แข่งเรือแข่งพายอ่ะแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้"

เครื่องรางของขลัง พลังแห่ง Conflict 

เครื่องรางและของขลัง เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ Conflict สุดท้ายเลยครับ Man Against Fate เพราะว่า ความพยายามอาจจะไม่ใช่คำตอบของหลายๆอย่าง เครื่องรางจึงใช้ช่องว่างนี้ ทำให้เกิด Marketing ได้อย่างปังๆ เพราะเครื่องรางเหล่านั้นถูกนำเสนอให้เป็น "ตัวช่วย" มนุษย์ที่จะสามารถเอาชนะ Conflict แบบ Man Against Fate ได้ในที่สุด ซึ่งมนุษย์ก็เชื่อแบบนั้นครับ และผลก็อาจจะต้องรอการพิสูจน์ดิวยการเช่าบูชาต่างๆครับ (จะได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่สินค้าก็มีการวางมาแล้วว่าจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วย ให้มนุษย์เอาชนะ Conflict ได้มากกว่าคนที่ไม่มีสินค้านี้ครับ) 

แล้วสินค้าอื่นๆจะเริ่มแบบนี้ได้มั้ย 

ได้ครับ ถ้าอยากเริ่มทำการตลาดไม่ว่าสินค้าอะไร ลองถามใจตัวเองก่อนว่า สินค้าที่เรามี และที่เราจะขายนั้น ตอบ Conflict ไหนได้บ้าง ซึ่งถ้าลองดูแล้วสามารถตอบ Conflict ได้ ก็สามารถหยิบตรงนั้นขึ้นมาเป็นตัวตั้งต้นของเรื่องเล่าได้เลยครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ลูกค้าที่ใช้สินค้านี้ ก็จะสามารถ "เอาชนะ" Conflict บางอย่างได้ในชีวิต โดยมีสินค้าของเราเป็นตัวช่วยครับ รับรองว่า ปังได้ไม่ยากครับ 

สำหรับใครที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ลองเริ่มด้วยวิธีนี้ดูก็ได้นะครับ ไม่แน่ว่า เจ้าสัวคนใหม่อาจจะเป็นคุณที่เริ่มต้นจากเรื่อง Conflict เล็กๆก็ได้นะครับ 

-------------------------------------------------------------------------------------

อ.ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์ 

www.presentation-academy-thailand.com

www.facebook.com/powerpoint100lemgwean


Thursday, October 8, 2020


 6 เคล็ดลับ ไม่ต้องไปอมพระวัดไหน  เล่าอะไร ใครก็เชื่อ

ในการเล่าเรื่อง หรือการนำเสนอ แน่นอนว่าหากพูดไปแล้วคนดูคนฟังไม่เชื่อ หรือข้อมูลที่เตรียมมาไม่น่าเชื่อถือ มันก็คือจบกันครับ แต่....บางครั้ง ถึงแม้ว่าข้อมูลจะจริงมากๆ มีหลักฐานยืนยัน Support ต่างๆ มาเต็ม ความเป็นวิชาการเกินร้อย คนดูคนฟังก็อาจจะยังไม่เชื่อถืออยูดี ในขณะเดียวกัน บางครั้งข้อมูลกลางๆ เล่ากันง่ายๆ คนดูก็เชื่อได้เป็นวรรคเป็นเวร มันเกิดจากอะไรกันนะ 

ในการนำเสนอ ไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือครับ เพราะมันไม่ได้ขึ้นกับ "ข้อมูล" อย่างเดียว แต่มันขึ้นกับ "ตัวคนนำเสนอ" ด้วยเช่นกัน รวมไปถึง "ความสัมพันธ์ระหว่างคนพูดและคนฟัง" ก็เป็นปัจจัยเสริมแรงให้การนำเสนอต่างๆนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยได้แค่ไหน 

หนังสือ How to Win Friends and Influence People ได้พูดไว้ถึง 6 วิธี ที่จะทำให้คน "เชื่อถือ" เราได้มากขึ้นด้วยครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ย้ำอีกทีว่าไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลยนะครับ เกี่ยวกับตัวคนเล่าคนพูด และความสัมพันธ์ระหว่างคนพูดกับคนฟังล้วนๆ มีอะไรบ้าง ลองดูกันครับ

1. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารู้สึกว่าเค้าสำคัญ 

เพราะศูนย์กลางของการนำเสนอ หรือการเล่าเรื่อง ไม่ใช่คนพูดครับ หากแต่เป็นคนฟัง ดังนั้น ผู้พูดเองควรต้องเอาใจใส่ผู้ฟัง และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเค้าเป็นคนสำคัญ เช่น การทักทายผู้ฟังในรายละเอียดที่แสดงถึงความใส่ใจ (เสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับ) การไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ (รถติดมั้ย ฝนตกมั้ย) ก็จะทำให้คนฟังรู้สึกได้ว่า คนพูดนั้น "ใส่ใจ" ครับ 

2. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารู้ว่าฟังแล้วจะได้อะไร 

สุดท้ายแล้ว คนที่มาฟังเรา ก็ไม่ได้มานั่งฟังเฉยๆครับ (แม้บางคนจะโดนบังคับมาก็ตาม) การฉายภาพให้เห็นก่อนว่า หลังจากที่ฟังจบแล้ว หรือเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนไป กับคนฟังคืออะไรบ้าง จะได้ความรู้อะไรบ้าง เอาไปทำอะไรได้บ้าง ก็จะทำให้คนฟังอยากจะฟัง และตั้งใจฟังได้มากขึ้นครับ

3. คนฟังจะเชื่อ ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นจริงๆ 

ในสมัยกรีก การศึกษาเรื่องวาทวิทยาได้ระบุไว้ถึง 3 ปัจจัยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของเรื่องราว หรือเนื้อหาต่างๆ 1 ในนั้นคือ "คนพูดเป็นใคร" (Ethos) ครับ ดังนั้นสำคัญมากก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้น การแนะนำตัวของผู้พูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความ "มั่นใจ" กับผู้ฟังได้ว่า วันนี้ ผู้ฟังได้มาฟังกับตัวจริง จริงๆ ครับ  แต่....ดาบสองคมของการแนะนำตัวก็คือ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลงานทั้งหมดที่มีนะครับ มันจะเป็นการ "ยกตนข่มท่าน" เปล่าๆ เอาเป็นว่า พูดคร่าวๆก็พอ เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในวันนี้ที่ผู้พูดรับผิดชอบอยู่ครับ 

4. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้าไม่ถูกบังคับ 

การกำหนดให้มีกิจกรรมใดๆ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ฟังอยากจะมีส่วนร่วม ไม่ควรเป็นการบังคับครับ ควรมีส่วนให้ผู้ฟังได้มีอิสระในการเลือกด้วย เช่น การมี Option ของโจทย์ หรือการร่วม Vote กิจกรรมที่คนฟังสนใจครับ ก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆนั้นดูไม่เป็นการบังคับจนเกินไป 

5. คนฟังจะเชื่อ ถ้าคุณมีลักษณะเหมือนเค้า 

ข้อนี้สำคัญมากๆๆๆๆครับ จำได้ว่าเคยเขียนไว้ทีนึง เรื่องของการ "ตกหลุมรัก ในการนำเสนอ" เพราะมนุษย์มักจะชอบคนที่มีลักษณะคล้ายเราครับ ดังนั้น Trick ตรงนี้คือ ทำยังไงก็ได้ ให้คนฟังรู้สึกว่าคุณคือพวกเดียวกันกับเค้าครับ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกอย่างนะครับ แต่ขอให้มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน ก็ใช้ได้แล้วครับ เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ "ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้" แล้วล่ะครับ 

6. คนฟังจะเชื่อ ถ้าเค้ารักคุณ 

ข้อนี้ เป็นผลพวกสุดท้ายมาจากทั้ง 5 ข้อข้างบนครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณ "สร้างหลุมรัก" ให้คนฟังตกลงมาได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเล่าอะไรต่อไป ก็ได้ทั้งหมดแล้วล่ะครับ 

เพราะการนำเสนอ ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหาเพียงอย่างเดียวครับ คนฟังคือศูนย์กลางของจักรวาลนี้ ดังนั้น คนพูด หรือคนนำเสนอเอง ควรจะต้องทำยังไงก็ได้ ให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำทั้ง 6 ข้อนี้ได้ก่อนการนำเสนอ หรือการเล่าเรื่องจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อนั้น คุณก็คุมจักรวาลการนำเสนอนี้ได้แล้วล่ะครับ 

----------------------------------------------------

อ.ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์ 

www.presentation-academy-thailand.com

www.facebook.com/powerpoint100lemgwean

presentationacademythailand@gmail.com 


 พรีเซนท์แทบตาย สุดท้ายเค้าไม่จำ ต้องทำยังไง??

เมื่อเราทำพรีเซนท์ไว้ดีมากๆ เรียงร้อยข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่พอเอาไปนำเสนออีกที คนดูกลับจดจำอะไรไม่ได้เลย เป็นเพราะอะไรกัน??

บางทีมันก็ดูเหมือนจะเสียแรงเปล่าครับ ที่เราอุตส่าห์นั่งทำข้อมูลมาเป็นอย่างดี คิดว่ามันต้องว้าวแน่ๆ ดึงดูดความสนใจแน่ๆ สไลด์มาอย่างคิดแล้วคิดอีก แต่...หนึ่งตัวชี้วัดที่ดูจะมีประโยชน์มากที่สุดตัวนึงก็คือ "แล้วหลังจากเราพรีเซนท์จบแล้ว คนฟังจำสิ่งที่เรานำเสนอไปได้มั้ย" หรือ "เค้าจำได้นานแค่ไหน" อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า การนำเสนอนั้นๆมีความ Effective รึเปล่าวด้วยนะครับ 

สมองคนเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง

ใช่ครับ..... หากว่าคุณเป็นคนนึงที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ อ่านหนังสือแล้วง่วง อยากจะหาทางลัด ทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ ฯลฯ นั่นก็คือ คุณมาถูกทางแล้วครับ สมองคนเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง ดังนั้น มันจะส่งผลต่อการ "รับฟัง" การนำเสนอ หรือการพูดด้วยเช่นกัน รวมถึงสมองคนเราก็มีขีดจำกัดอยู่ด้วยในเรื่องของความจำครับ อย่างที่ประโยคในหนัง (เคย) ดัง ประโยคนึงพูดไว้ว่า "....ไม่ลืมไม่มีหรอก มีแต่ลืมช้าหรือลืมเร็ว แค่นั้น.." 

ในเรื่องความจำ นักจิตวิทยาก็เลยมีการนำเสนอทฤษฎี Cognitive Load Theory (CLT) เพื่อมาทำการอธิบายว่า อะไรกันที่จะทำให้สมองจดจำได้นานขึ้นครับ ซึ่งทฤษฎีนี้ระบุไว้ถึงความสามารถของสมองในสามทิศทาง คือ Intrinsic Load, Extraneous Load, และ Germane Load ครับ (อย่าเพิ่งตกใจ เดี๋ยวอธิบายให้ฟัง) 

Intrinsic Load - อะไรยากไป ไม่จำ 

ก็อย่างที่บอกไว้ครับ ว่าสมองเรามีความขี้เกียจอยู่ในตัวเอง ดังนั้นอะไรก็ตามที่ "ง่ายกว่า" จะเป็นที่จดจำได้ "มากกว่า" ดังนั้น ในงานนำเสนอ ผู้นำเสนอควรทำการ "ย่อย" ข้อมูลที่มีความซับซ้อนให้ง่ายลง ทำให้เป็นขนาด Bite Size ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำที่มากขึ้นครับ ในส่วนนี้ ถ้าเป็นสไลด์ ในหนึ่งหน้าก็ควรจะมีแค่เนื้อหาหลักเรื่องเดียว ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นพรืด ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำได้มากขึ้นครับ 

Extraneous Load - นำเสนอไม่ดี ไม่จำ 

นอกจากการย่อยข้อมูลแล้ว การนำเสนอที่เหมาะสมและควรค่าแก่การจดจำ ก็ต้องเกิดจากการ "ร้อยเรียง" อย่างเป็นลำดับและติดตามได้ด้วยครับ ด้วยเหตุนี้ การใช้ "เรื่องเล่า" หรือว่า Storytelling เข้ามาช่วยในการนำเสนอ จึงเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจดจำครับ มีงานวิจัยพบว่า การนำเสนอโดยเรื่องเล่า จะทำให้คนจำได้มากกว่าการนำเสนอข้อมูลเพียวๆ ถึง 65% ด้วยกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรนำคือ ย่อยข้อมูลแล้ว ก็ต้องร้อยเรียงให้รู้เรื่องด้วยครับ 

Germane Load - เชื่อมโยงไม่ได้ ไม่จำ 

อีกอันนึงคือ การ Connect the Dots ของผู้ฟังครับ หากข้อมูล เนื้อหาหรือการเล่าเรื่องราวต่างๆในงานนำเสนอนั้น ไม่สามารถถูกเชื่อมโยง เข้ากับประสบการณ์ของผู้ฟังได้ สมองก็จะไม่จำเท่าไหร่ครับ อันนี้เป็นอีกความลับนึงในการนำเสนอครับ หมายความว่า การนำเสนอให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้นำเสนอก็ต้องรู้จักผู้ฟังดีประมาณนึง ที่จะสามารถร้อยเนื้อหานี้ให้เกิดการเชื่อมโยงเข้ากับผู้ฟังได้ด้วยครับผม 

สามส่วนนี้ เป็นความลับของสมองมนุษย์ที่จะทำให้การนำเสนอครั้งต่อไปของทุกคนนั้น สามารถประทับรอยไว้ในสมองของผู้ฟังได้ครับ เมื่อการนำเสนอจบลงไปแล้ว เนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆที่เราพยายามทำมาข้ามวีค ข้ามเดือน ก็จะเข้าไปอยู่ในความจำของผู้ฟังได้ครับ อย่างน้อย เค้าก็ได้อะไรกลับบ้านไป หลังจากที่การนำเสนอจบลง ลองเอาไปใช้ดูนะครับ 

--------------------------------------------------------
อ.ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์ 
www.presentation-academy-thailand.com
www.facebook.com/powerpoint100lemgwean
presentationacademythailand@gmail.com