Thursday, February 27, 2020

เล่า "แนวโน้ม" ยังไงให้เห็นภาพ


เล่า "แนวโน้ม" ยังไงให้เห็นภาพ

ถ้าต้องนำเสนออะไรซักอย่างในทุกวันนี้ เล่าไม่ดี ไม่เห็นภาพ คนก็ไม่ฟังเรา ไม่เชื่อเราครับ Data Visualization ก็เลยเข้ามามีบทบาทสำคัญกับงานนำเสนออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้ Graph Chart Diagrams ต่างๆ ก็เป็นตัวช่วยที่ดีมากๆครับ ที่จะเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นนามธรรม ให้คนสามารถเห็นภาพได้ เข้าใจได้ แต่....จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากครับ เพราะว่าแต่ละ Graph, Charts หรือ Diagrams เหล่านั้น ก็มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว ที่ Data Visualizer ต้องคำนึงถึง เพื่อจะไปหยิบใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมครับ

การนำเสนอ "แนวโน้ม" หรือความเป็นไปได้ (หรือ Trends) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Data Visualization เข้ามาทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น มากกว่าการใช้ตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวครับ กราฟที่ตอบสนองสิ่งนี้ได้ดีที่สุดคือ "กราฟเส้น" (Linear Graph) ครับ เพราะกราฟเส้นมี "ความชัน" ของเส้นแต่ละช่วง ซึ่งความชันนี้เองจะเป็นตัวบอกแนวโน้มของสิ่งที่เราจะ "คาดการณ์" ว่ามันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง มากหรือน้อย ครับ 

มากไปกว่านั้น บ่อยครั้งที่กราฟเส้นถูกใช้เพื่อการ "เปรียบเทียบ" อะไรบางอย่าง ในช่วงระยะเวลาเดียวกันก็ได้ครับ ซึ่งในกราฟชุดหนึ่งสามารถมีได้หลายเส้น (มากที่สุดไม่ควรเกิน 4 หรือ 5 เส้นนะครับ) เราก็จะเห็นการเปรียบเทียบทั้งความชัน และ ค่า ของกราฟแต่ละเส้น ในแต่ละจุดครับ 


ตัวอย่างที่เจอมาวันนี้ เป็นการใช้กราฟเส้นที่เอามารวมกับความเป็น Animation ครับ เพื่อนำเสนอแนวโน้มของการระบาดของโรคระบาดต่างๆ และแน่นอนว่า Coronavirus ก็เป็นสิ่งที่กราฟนี้กำลังพูดถึงครับ ซึ่งในกราฟ จะมีทั้งการ "เปรียบเทียบแนวโน้ม" ระหว่างอัตราการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิต รวมถึง อัตราการติดเชื้อในแต่ละช่วงเวลา เมื่อเทียบกันกับการแพร่กระจายของโรคระบาดอื่นๆอย่าง SARS  MERS ด้วยครับ 

นอกจากนี้ ในช่วงต้นของคลิป (ที่เป็นกราฟเปรียบเทียบการติดเชื้อกับการเสียขีวิต) เรายังสามารถใช้ร่วมกับ Map Diagram หรือแผนที่ได้ด้วยนะครับ เป็นการใช้ Data Visualization ที่มากกว่า 1 ชนิด ในการนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายครับ

ตัวอย่างที่เอามาให้ดู เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆครับ ดังนั้น ป้องกันตัวเองไว้ก่อนนะครับ อย่าเพิ่งเห็นแก่ตั๋วถูก ทัวร์ถูก ครับ เพื่อตัวเอง ครอบครัว และสังคมที่ปลอดภัยครับผม 


--------------------------------------------------------------------------------
PRACT - Presentation Academy Thailand
presentationacademythailand@gmail.com



Tuesday, February 18, 2020

ใช้ฟ้อนท์ให้ปัง มาฟังทางนี้


เคยมั้ย?? ใช้ฟ้อนท์ยังไง งานก็ไม่สวยซักที??


หนึ่งประเด็นที่น่าเห็นใจสำหรับคนทำงานพรีเซนท์อย่างเราๆก็คือ การพิมพ์เนื้อหาด้วยฟ้อนท์ (Font) ที่คิดว่าดีแล้ว แต่พองานออกมาก็กลับเชย ไม่สวย ไม่ลงตัว อ่านยาก ซะงั้น จะเปลี่ยนฟ้อนท์ยังไงก็ยังไม่รอด ไม่ปัง ซักที วันนี้มีทางออกมาให้แล้วครับผม 

บ้านเราเรียกกันติดปากว่า ฟ้อนท์ (Font) ครับ แต่ศัพท์เทคนิคจริงๆของนักออกแบบ เรียกรูปแบบตัวอักษรต่างๆเหล่านั้นว่า Typeface ครับ ซึ่งถ้าจะเอาตามความเป็นจริง Font จะเป็นรูปแบบของ Typeface แต่ละอันครับ เช่น Typeface: Arial  ส่วน Font จะเป็น Arial Bold, Arial Black, Arial Rounded เป็นต้นครับ  (แต่....ก็เรียกได้ว่าฟ้อนท์เหมือนกัน เหมือนเป็นชื่อเล่นกับชื่อจริง) ความน่าสนใจของงาน Font ก็คือ Font ที่เราใช้ๆกันอยู่ มีด้วยกันหลากหลายประเภทคับ ลายมือก็มี ตัวพิมพ์ก็มี ตัวพิมพ์แบบไม่มีเชิง (Sans Serif) ก็มี และทีนี้ ความบันเทิงก็เริ่มต้นขึ้นในการเลือกฟ้อนท์ให้มาเจอกันครับ เลือกยังไงก็ไม่เป๊ะซักทีก็เลยเลือกอยู่นั่น จนงานไม่ได้ไปไหน

ถ้ามองออกมาไกลหน่อย จริงๆแล้ว งาน Font ไม่ได้มีแค่การเลือก Font ให้มาเจอกันครับ วันนี้เราลอง "ก้าวข้าม" การเลือกฟ้อนท์กันก่อน เพราะว่ายังมีอีกหลายเทคนิคที่จะทำให้งาน Font ของเรานั้น ปังขึ้น เป๊ะขึ้น ดูดีขึ้นได้ในทันตาเห็นครับ วันนี้ PRACT ก็เลยรวบเอาเทคนิคดีๆมาบอกกัน แล้วลองเอาไปใช้กันดูในงานพรีเซนท์ครั้งหน้านะครับ

ใช้ฟ้อนท์ให้ปัง มาฟังทางนี้.... ตามมาโลด 




1. ชิดซ้ายอ่านง่ายที่สุด

ถ้าไม่รู้จะจัดหน้าตัวหนังสือยังไง ชิดซ้ายไว้ก่อนจะดีกว่าในทุกกรณีครับ เพราะวัฒนธรรมการอ่านของคนจะเริ่มต้นทางซ้ายเสมอครับ ซึ่งการจัดตัวหนังสือชิดซ้ายไว้ เป็นอะไรที่ปลอดภัยและดูโปรที่สุดแล้วในบรรดาการจัดหน้าทั้งหมดครับผม










2. อยากให้ฟ้อนท์มีคู่ ลองดูคนละตระกูล

ฟ้อนท์เองก็มีหน้าที่ครับ หลักๆคือหัวเรื่องกับเนื้อหา วิธีการที่ดีที่สุดอันนึงคือการจัดคู่ให้ฟ้อนท์ครับ ฟ้อนท์นึงทำหน้าที่เป็นหัวเรื่อง อีกฟ้อนท์นึงทำหน้าที่เป็นเนื้อหา และ Trick ก็คือ ลองเลือกฟ้อนท์ที่อยู่คนละตระกูลครับ เช่น มีหัว//ไม่มีหัว  ตัวหนา//ตัวบางๆ  ตัวยืดๆ//ตัวแบนๆ ประมาณนี้ครับ









3. ขนาด สำคัญ!!

ขนาด สำคัญเสมอครับ สิ่งที่ใหญ่กว่า จะถูกมองเห็นก่อน ซึ่งมันต่อเนื่องมาจากข้อเมื่อกี๊ครับ โดยปกติแล้ว ขนาดของหัวเรื่องต้องใหญ่กว่าเนื้อหาครับ เพื่อให้คนเห็นหัวเรื่องก่อน แล้วค่อยตามมาอ่านเนื้อหาข้างล่าง ซึ่งถ้าให้ดี ขนาดควรต่างกันอย่างน้อย 1.3 เท่าขึ้นไปครับ








4. ถ้าจะเอียง เอียงให้เป็นแนวเดียวกัน 

เราเอียงได้นะครับ แต่ว่า ถ้าจะเอียง อย่าเอียงสะเปะสะปะครับ พยายามมีแนวแกนที่ชัดเจน และใช้แกนนั้นให้เป็นประโยชน์ที่สุด ทุกข้อความควรใช้แกนเดียวกัน องศาเดียวกัน แบบนี้ครับ







5. รูปร่างช่วยคุณได้ 

ข้อดีของการใช้รูปร่างคือ มันสามารถช่วยจัดกลุ่ม รวมกลุ่ม แยกกลุ่มกันได้ครับ ตัวอักษรที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือรูปร่างเดียวกัน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันโดยปริยายครับ และคนดูจะแยกออกจากส่วนอื่นๆได้เลยโดยอัตโนมัติ











6. ขึ้นต้น ลงท้าย ยังไงให้โปร

เวลาขึ้นบรรทัดใหม่ ลองดูด้วยนะครับว่ามันจบประโยคยังไง เรามักจะไม่นิยมขึ้นบรรทัดใหม่โดยเหลือคำเดียวครับ (ในภาษาอังกฤษเรียกลักษณะเหล่านี้ว่า "แม่หม้าย") หรือแม้กระทั่ง ขึ้นหน้าใหม่ด้วยบรรทัดสุดท้ายของย่อหน้า อันนี้ก็ไม่ควรเช่นกันครับ










เท่านี้เอง งานฟ้อนท์ของเราก็ดูโปรเฟซชั่นนอลขึ้นได้แล้วล่ะครับ เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้พรีเซนท์เทชั่นของเราดูมืออาชีพมากยิ่งขึ้น (มากๆเลย) ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ

PRACT - Presentation Academy Thailand

อ่าน Blog อื่นๆที่
www.presentation-academy-thailand.com
www.facebook.com/powerpoint100lemgwean