ทำ Slide ยังไง? ให้ "เรียนออนไลน์" แล้วไม่บั่นทอน
เอาล่ะ... เรื่องร้อนตอนนี้ก็คงมีไม่กี่เรื่องครับ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "การเรียนออนไลน์" ที่ดูจะเป็นประเด็นอยู่ไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องความพร้อม อุปกรณ์ สัญญาณการเชื่อมต่อ และ "ความบั่นทอน" สุขภาพจิตผู้เรียน (และผู้ปกครอง) แน่นอนว่าเมื่อผู้เรียนไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนปกติ และต้องนั่งมองหน้าจออุปกรณ์อยู่อย่างนั้น ความบั่นทอนก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้วเป็นธรรมดาครับ ยิ่งคุณครูเปิด Slide ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาอย่างกับยกสารานุกรมมาถมลงในแอพพลิเคชั่น คนเรียนก็ยิ่ง "บั่นทอน" กันเข้าไปใหญ่
ออกตัวก่อนว่า ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยนะครับ แต่สิ่งที่อยากให้คุณครู หรือผู้สอน ลองเอาไปปรับใช้ดู น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน (หรือแม้กระทั้งการนำเสนอ) ออนไลน์ได้บ้าง ตามหลักจิตวิทยาการรับรู้ของมนุษย์ครับ เพื่อประโยชน์กับเด็กๆ และการเรียนออนไลน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคต มาดูกัน ว่าเราทำอะไรได้บ้างครับผม
1. คิดก่อนว่า Slide หน้านี้ต้องให้เห็นอะไร
อย่าเพิ่งถมทุกสิ่งอันลงไปใน Slide นะครับ เพราะถ้าเราถมไปหมดแบบนั้น นอกจากมันจะไม่ชวนเรียนแล้ว ยังเป็นการทำให้ผู้เรียนไม่ได้มีโอกาส "ฟัง" สิ่งที่ครูพูดด้วยครับ เพราะผู้เรียนจะนั่งอ่านสิ่งที่มันเป็นตัวอักษรทั้งหมดตรงนั้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวินาทีต่อไปคือ "ความเบื่อหน่าย" ไม่อยากเรียน เพราะไม่อยากอ่านครับ เรามักจะชอบ "ฟัง" มากกว่า "อ่าน" เพราะอ่านใช้สมองเยอะกว่า ใช้สายตาในการประมวลผล ดังนั้น ลองคิดซักนิดก่อนครับว่า ในหน้านั้น อะไรคือ Key สำคัญที่ต้องเห็น และต้องเน้น ส่วนที่เหลือ เป็นครูมาเล่าให้ฟังเสริมไป น่าจะช่วยได้กว่าครับ
2. บอกลา Background ลายดอกไม้ไปก่อน
อ่ะ.... อย่าเพิ่งครับ เพราะว่า Background ที่คุณครูเลือกมา โอเค ครูอาจจะบอกว่า มันก็สวยดี แต่.... มันอาจจะเป็นตัวการทำให้ Slide ของคุณครูดูรกหูรกตาไปกว่าปกติครับ อย่าลืมว่าในวันนี้ เด็กๆไม่ได้มีโอกาสมองสิ่งอื่นนอกจากจอเล็กๆตรงหน้าครับ ดังนั้น การทำ Slide ให้คลีนก่อนในเบื้องต้น จะช่วยได้มากให้การเรียนการสอนไม่ถูกรบกวนโดยดอกลาเวนเดอร์ ที่ครูเลือกมาครับ
3. ค่อยๆ Click ค่อยๆขึ้น
การเรียนออนไลน์ยังไงก็ไม่เหมือนในห้องครับ สติ สมาธิ ของคนดูคนเรียนหลุดได้ง่ายกว่ามาก เพราะมันมีแค่หน้าจอเล็กๆเท่านั้นครับ ดังนั้น คุณครูอาจจะต้องทำตัวเป็น "คนเล่าเรื่อง" เล่าถึงตรงไหน ค่อยคลิกให้นักเรียนได้เห็นสิ่งนั้น ก็จะทำให้เกิดความน่าติดตามมากกว่าการเทกระจาดลงไปให้เห็นทั้งหมด นึกภาพเวลาเราดูหนังครับ เราคงไม่อยากให้ใครมา Spoil ว่ามันจะมีอะไรบ้างถูกต้องมั้ยครับ งาน Slide ก็เช่นกัน ครูอาจจะต้องวางหมากเพิ่มนิดหน่อยในส่วนนี้ครับ
4. รูปภาพถ่ายสื่อสารได้ดีกว่า
ถ้าจะใช้รูปภาพเพื่อทำให้เห็นตัวอย่าง หรือเกิดอารมณ์ความรู้สึก แนะนำให้ใช้ภาพจริง (ภาพถ่าย) ครับ และพยายามอย่าใช้ลักษณะภาพที่หลากหลายเกินไป เช่น การ์ตูนบ้าง ภาพถ่ายบ้าง ขาวดำบ้าง สีบ้าง ภาพวาดบ้าง ควรเลือกและใช้ให้ไปในทางเดียวกันเลยครับผม ก็จะช่วยให้งาน Slide น่าติดตามขึ้นได้ครับ และไม่สะเปะสะปะด้วยครับ
5. เปลี่ยนฟ้อนท์ให้แปลกตาขึ้นบ้าง
คุณครูอาจจะต้องเลิกใช้ฟ้อนท์ อังสนา หรือ สารบรรณ ไปก่อนครับ เพราะฟ้อนท์เหล่านั้น เด็กๆเจอบ่อยแล้วตามหน้าหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ครั้นมาเจอกันใน Slide อีก ก็อาจจะน่าเบื่อกันเข้าไปใหญ่ได้ครับ ลองปรับฟ้อนท์มาเป็นแบบไม่มีหัวดูบ้าง ก็อาจจะช่วยให้เด็กๆมีความสนใจ และอยากรู้ อยากติดตามเพิ่มขึ้นได้บ้างครับผม
ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นพื้นฐานง่ายๆที่คุณครูสามารถทำได้ครับ จริงอยู่ ว่าคุณครูแต่ละท่านอาจจะไม่ได้ถนัดมากสำหรับการเรียนออนไลน์ที่เข้ามามีผลในช่วงนี้ครับ แต่ยังไงก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้้ ก็ถือได้ว่าเป็นการ "เริ่ม" ปรับตัวอีกระดับหนึ่งครับ ผิดถูกไม่เป็นไรครับ ลองทำดูก่อน แล้วลองดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเรียนการสอนนั้น เป็นยังไงบ้าง และแน่นอนว่า Slide อย่างเดียว อาจจะช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการพูด การสอน การนำเสนอของคุณครูเอง คุณครูอาจจะต้องใช้พลังมากกว่าปกติในการสื่อสาร หรือสอนในระบบทางไกล และออนไลน์แบบนี้ครับ มันจะเหนื่อยกว่าปกติไม่ต้องตกใจครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่า เราทำได้เพียง Interact กับหน้าจอเท่านั้น เด็กๆก็เช่นกัน การที่จะให้เด็กๆรับพลังจากเราไปได้ เราต้อง "เล่นใหญ่" กว่าปกตินิดนึงครับผม
สู้ๆนะครับ :) เราจะผ่านมันไปด้วยกันครับ
--------------------------------------------
รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม
PRACT - Presentation Academy Thailand
Youtube: powerpoint100lemgwean
Soundcloud: powerpoint100lemgwean
preentationacademythailand@gmail.com